เปิดโผ 6 ประเทศต้นแบบเมืองสะอาด น่าเที่ยว เพราะจัดการปัญหาขยะได้ดี จนต้องยกนิ้วให้ มีที่ไหนบ้าง และมาดูกันว่าแต่ละประเทศจัดการขยะอย่างไร
บ้านเมืองที่สะอาด ไม่มีปัญหาเรื่องขยะทิ้งเกลื่อนกลาด มักจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนอยากเดินทางไปเที่ยว ซึ่งนอกจากคนจะสนใจเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ แล้ว วิธีการจัดการขยะดี ๆ ก็เป็นประเด็นที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจอยู่ไม่น้อย และวันนี้เราจะพามาส่อง 6 ประเทศต้นแบบเมืองสะอาด ระบบการจัดการขยะที่ต้องยกนิ้วให้ ว่าแต่จะมีประเทศไหนบ้างไปดูกันเลย
ญี่ปุ่นเป็นประเทศน่าเที่ยวอันดับต้น ๆ ในเอเชีย ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลไปใช้ชีวิตช่วงสั้น ๆ อยู่ที่นั่น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้มีปริมาณขยะเพิ่มขึ้น และอาจจะจัดการยาก แต่ไม่ใช่ปัญหาสำหรับประเทศญี่ปุ่น เพราะมีระบบการจัดการขยะที่ดีมาก เห็นได้จากบ้านเมืองที่สะอาด ไม่มีขยะวางทิ้งไว้ข้างทาง วิธีการจัดการขยะของญี่ปุ่นเริ่มต้นในระดับครัวเรือน มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการทิ้งขยะที่ชัดเจน หากทิ้งขยะไม่ถูกที่ อาจโดนจับหรือปรับได้
ข้อมูลจาก Ebina City Official Website
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีโรงงานขยะขนาดใหญ่ ที่นำขยะไปเข้ากระบวนการเผาและกระบวนการอื่น ๆ อีกหลายขั้นตอน เพื่อให้ขยะเหล่านั้นก่อมลพิษน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ แถมการเผาไหม้ขยะนั้นก็ไม่ได้สูญเปล่า เพราะยังสร้างพลังงานไฟฟ้าที่ทำเงินให้โรงขยะได้อีกต่างหาก ส่วนเถ้าจากการเผาขยะก็สามารถนำไปสร้างเป็นอิฐบล็อกใช้ในงานก่อสร้าง หรือนำไปถมทะเลเพื่อเปลี่ยนสถานที่นั้นให้เป็นสวนสาธารณะอีกด้วย
สวีเดนเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ทำให้ขยะกลายเป็นของมีมูลค่า โดยขยะจากครัวเรือนเกือบทั้งหมดมีการนำกลับไปรีไซเคิล ทำเป็นปุ๋ยหมัก และอีกกว่า 50% นำไปใช้ในการผลิตพลังงาน เหลือขยะที่ต้องนำไปฝังกลบเพียง 0.08% ของปริมาณขยะทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนเหลือใช้ที่น้อยมาก จนต้องนำเข้าขยะจากประเทศเพื่อนบ้านมาผลิตเป็นพลังงานเลยทีเดียว วิธีการจัดการขยะในสวีเดนเกิดจากความร่วมมือร่วมใจในภาคประชาชน มีการปลูกฝังให้แยกขยะอย่างจริงจัง ใช้สีของถุงขยะเป็นสัญลักษณ์ในการแยกขยะในภาคครัวเรือน ส่งผลให้รถขยะและโรงงานขยะจัดการขยะเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น จนทำให้สวีเดนเป็นประเทศที่แทบจะมีของเสียเหลือศูนย์ (Zero Waste)
ทั้งนี้ ทางรัฐบาลสวีเดนจริงจังกับการแก้ปัญหาขยะ และมลพิษที่เกิดจากขยะเป็นอย่างมาก โดยมีเป้าหมายจะทำให้ขยะภายในประเทศเป็นศูนย์ภายในปี 2563 อีกทั้งออกกฎหมายห้ามเผาขยะ จำกัดการปล่อยสารเคมีที่เป็นอันตรายอย่างเข้มงวด กำหนดให้นำขยะกลับมาใช้ใหม่แทนการฝังกลบ รวมไปถึงการใช้หลักการจัดการขยะอย่างมีระบบ เพื่อลดจำนวนขยะ หาวิธีการนำขยะกลับไปรีไซเคิลใหม่ และยังนำขยะไปผลิตพลังงาน เช่น การนำขยะเศษอาหารไปทำก๊าซชีวภาพสำหรับเป็นพลังงานให้รถประจำทางในเมือง ส่วนขยะที่นำไปเป็นเชื้อเพลิงได้ ก็จะถูกนำไปเผาเพื่อผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าใช้ในประเทศต่อไป
เนเธอร์แลนด์ ประเทศในฝันของใครหลายคน ที่นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวจะสวย บรรยากาศดีแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีระบบการจัดการขยะได้ดี โดยมีอัตราการรีไซเคิลขยะกว่า 80% สัดส่วนการนำพลังงานกลับคืนอยู่ที่ 17% ซึ่งกระบวนการรีไซเคิลขยะที่ว่านี้ทำให้สามารถนำขยะเก่ากลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้มากถึง 97% นอกจากนั้นเนเธอร์แลนด์ยังมีระบบคัดกรองขยะและเตาเผาขยะตามข้อตกลงของ EU อีกด้วย ซึ่งการคัดกรองขยะของเนเธอร์แลนด์ก็เริ่มจากภาคประชาชน และร้านค้าต่าง ๆ โดยจะกำหนดวันและเวลาในการเก็บขยะแต่ละประเภท ประชาชนต้องนำขยะในครัวเรือนออกมาวางไว้หน้าบ้าน ระบบการทิ้งขยะแบบนี้เรียกว่า “Door to door” ที่จะกำหนดว่าขยะทั่วไปเก็บวันนี้ ขยะกระดาษเก็บวันนี้ ส่วนขยะพลาสติกและแก้วสามารถแลกคืนได้ที่ซูเปอร์มาร์เกตที่เข้าร่วมโครงการ หรือตามสถานที่ต่าง ๆ ก็จะมีการแบ่งสีของถังขยะ ให้ทิ้งขยะแต่ละประเภทไว้บริการ
เนเธอร์แลนด์ ยังมีมาตรการจัดการขยะภาคครัวเรือนด้วยการเก็บค่าธรรมเนียม หากบ้านไหนไม่แยกขยะก็จะต้องจ่ายค่าปรับ ซึ่งช่วยให้การจัดการขยะในประเทศเป็นไปอย่างมีระบบระเบียบมากขึ้น ส่วนการแปรรูปขยะนำไปทำได้หลายอย่าง เช่น นำขยะเศษอาหารไปเป็นพลังงานชีวภาพใช้กับรถขนขยะ ขยะเหลือใช้ก็แปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า หรือการนำขยะพลาสติกไปสร้างเลนจักรยานในเมือง Zwolle และเมือง Giethoorn เป็นต้น
เยอรมนียืนหนึ่งในเรื่องนำขยะมารีไซเคิลได้มากที่สุด โดยขยะในประเทศ 64% เป็นขยะถูกนำไปรีไซเคิลและทำปุ๋ยหมัก ส่วนอีก 35% นำไปใช้ในการผลิตเป็นพลังงาน มีเพียง 1% เท่านั้นที่เข้าสู่กระบวนการฝังกลบ ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างคุณค่าให้ขยะได้อย่างน่าชื่นชม ทั้งนี้ ความสำเร็จในการจัดการขยะของเยอรมนีเกิดจากความร่วมมือที่ดีของภาคประชาชน ที่จะเห็นได้ว่าคนเยอรมันจะนำถุงผ้าไปจ่ายตลาดอย่างเป็นปกติ และจะหิ้วขวดพลาสติก ขวดแก้ว มาทิ้งในตู้ที่ตั้งไว้บริการตามร้านค้า และรับเงินค่ามัดจำขวดคืน วิถีชีวิตคนที่นี่ถูกปลูกฝังกันรุ่นต่อรุ่น ประชาชนเลยมีสำนึกที่ดีในการทิ้งขยะจากการใช้งานของตัวเอง
ในด้านกฎหมาย ทางรัฐบาลเยอรมนีได้ออกกฎหมายสิ่งแวดล้อม ที่มีเนื้อหาบังคับให้ผู้ที่ก่อให้เกิดมลพิษต้องจ่ายเงิน ซึ่งทำให้ภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การจัดการป่าไม้ และสาธารณูปโภค ต้องจัดการขยะอันเกิดจากกระบวนการผลิตของตัวเองอย่างมีบรรทัดฐานเดียวกัน ส่วนขยะที่เข้าไปสู่กระบวนการกำจัดและคัดแยก ก็จะถูกนำไปหมักเป็นปุ๋ยชีวภาพ หรือนำไปแปรรูปเป็นพลังงานใช้ภายในประเทศ
ออสเตรียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีการจัดการขยะได้ดีเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก จากความร่วมมือร่วมใจแยกขยะของประชากร ซึ่งถูกปลูกฝังกันมาตั้งแต่เด็ก ๆ ว่าต้องแยกขยะตั้งแต่ในบ้าน แล้วค่อยนำไปทิ้งในถังขยะให้ถูกต้องตามสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ เพื่อให้ง่ายต่อการนำขยะไปยังแหล่งรีไซเคิลอีกที ด้วยเหตุนี้บ้านเมืองออสเตรียจึงสะอาดน่าอยู่ และยังมีโรงไฟฟ้าขยะที่สวยงามเหมือนผลงานศิลปะตั้งโดดเด่นอยู่ในกรุงเวียนนาอีกด้วย
โรงไฟฟ้าขยะ Spittelau
เกาหลีใต้เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีการจัดการขยะที่ดี เพราะแม้ตามข้อมูลของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จะระบุว่า เกาหลีใต้จะมีขยะอาหารสูงกว่า 10% แต่ทางการก็ให้ความสำคัญกับปัญหานี้ โดยสร้างถังขยะอัจฉริยะที่ให้ประชาชนนำขยะอาหารมาชั่งน้ำหนัก และทิ้งในจุดที่กำหนดไว้ จากนั้นเครื่องจะคำนวณค่าใช้จ่ายจากการทิ้งเศษอาหาร ส่งเป็นบิลเรียกเก็บไปยังบ้านเลขที่ในบัตรประชาชนคนทิ้ง นอกจากนี้ตามการรายงานของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ระบุว่า วิธีดังกล่าวยังช่วยให้ขยะเศษอาหารในเกาหลีใต้ลดลงถึง 47,000 ตัน ภายใน 6 ปีอีกด้วย นับเป็นความสำเร็จในการลดปัญหาขยะอาหาร และนำเอาขยะอาหารเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ต่อไปได้มากทีเดียว
ทั้งนี้ เกาหลีใต้ นำขยะอาหารที่ถูกทิ้งไปเป็นวัตถุดิบในการสร้างก๊าซชีวภาพ และน้ำมันไบโอดีเซล แล้วนำไปใช้เป็นพลังงานทดแทนต่อไป จากนั้นกากขยะอาหารที่แห้งจะถูกนำไปทำปุ๋ยใช้ในอุตสาหกรรมการเกษตร และครัวเรือน หรือถูกนำไปทำอิฐบล็อกใช้ในการก่อสร้างต่าง ๆ ขณะที่ขยะพลาสติกจะให้บริษัทเอกชนรับซื้อแล้วนำไปขายต่อเป็นกำไร ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้เกาหลีใต้เป็นประเทศที่รีไซเคิลขยะได้เกินครึ่งของจำนวนขยะทั้งหมด
สิ่งหนึ่งที่เรามองเห็นจาก 6 ประเทศต้นแบบในการจัดการปัญหาขยะในประเทศ มักจะมีปัจจัยสำคัญอยู่ที่ภาคประชาชนที่ให้ความร่วมมือในการแยกขยะ และทิ้งขยะให้ถูกที่ ซึ่งถ้าเราอยากให้ประเทศไทยเป็นเมืองสะอาด มีการจัดการขยะที่ดี ก็เริ่มได้ด้วยการแยกขยะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ดร.กัญณภัทร ชื่นวงศ์ สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.เพ็ญศิริ ประชากิตติกุล สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ สำนักสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี
ดร.สุธาทิพย์ สินยัง สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ศูนย์บริการข้อมูลเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
วารสารสิ่งแวดล้อม ปีที่ 17 สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วารสารสิ่งแวดล้อม ปีที่ 22 สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2562
ขอขอบคุณที่มา : https://erc.kapook.com/article10.php
สาระน่ารู้ อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง